ประวัติวัดชัยมงคลวังมุย
วัดชัยมงคลวังมุย
วัดเก่าและวัดใหม่คู่บ้านวังมุย
ตั้งแต่ครั้งโบราฯ ที่บ้านวังมุยมีวัดคู่บ้าน ชื่อวัดศรีสองเมือง เป็นที่ยึดเหนี่ยว และประกอบพิธีการทางพุทธศาสนาของชาววังมุย ต่อมาในราวปี พ.ศ. 2474 มีวัดใหม่ประจำบ้านวังมุยขึ้นมาอีกแห่ง คือวัดชัยมงคล (วังมุย) ในปัจจุบัน ดังนั้น ชาวบ้านจึงเรียก วัดศรีสองเมืองว่า "วัดเก่า" ครั้นนานวันเข้า วัดเก่าเริ่มรกร้าง จึงเรียกวันว่า "วัดห่าง" คำว่า "ห่าง" ในภาษาถิ่นภาคเหนือแปลว่า "ร้าง" นั่นเอง (ออกเสียงว่าฮ้าง)เมื่อสมัยที่หลวงปู่ครูบาเจ้าชุ่มยังเป็นเด็กชาย ก็ชอบไปคลุกคลีอยู่ที่วัดได้ซึมซับรับนิสัยอันดีงามต่าง ๆ จากี่วัดนี้ โดยมีตุ๊คำ เป็นเจ้าอาวาสวัดศรีสองเมืองในสมัยนั้น จนกระทั่งหลวงปู่ครูบาเจ้าชุ่มบรรพชาเป็นสามเณร และตุ๊เจ้าตามลำดับ จึงจากบ้านวังมุยไปศึกษาพระธรรมวินัย ณ เมืองเชียงใหม่ ต่อมา ตุ๊คำ เจ้าอาวาสวัดศรีสองเมือง มรณภาพลง ตัวแทนของชาวบ้านวังมุยจึงไปนิมนต์ พระชุ่ม โพธิโก กลับมาเป็นเจ้าอาวาส ตอนนั้น พระชุ่มอายุเพียง 23 ปี กำลังอยู่ระหว่างเล่าเรียนอยู่ที่วัดน้ำโจ้ (อ.สารภี จ.เชียงใหม่) ท่านรับนิมนต์กลับมาเป็นเจ้าอาวาสวัดศรีสองเมือง ครูบาชุ่ม โพธิโก ปกครองดูแลวัดศรีสองเมืองอยู่ระยะหนึ่งแล้ว ได้เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมบริเวณวัด และพื้นที่บ้านวังมุยอยู่เนือง ๆ ชาวบ้านวังมุยเห็นพระสงฆ์องค์เจ้าได้รับความลำบากเดือดร้อนจากเหตุการณ์น้ำท่วมวัด จึงเห็นชอบกันว่าควรจะย้ายสถานที่ตั้งวัดใหม่ ซึ่งก็คือวัดชัยมงคล (วังมุย) ที่เห็นในปัจจุบัน ส่วนวัดเก่า คือวัดศรีสองเมืองนั้น ก็เริ่มรกร้างไป
วัดศรีสองเมือง (วัดเก่า หรือวัดห่าง)
วัดศรีสองเมือง ปรากฏมีมาคู่บ้านวังมุยแต่โบราณ สร้างขึ้นในสมัยใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด พ่ออุ้ยแม่อุ๊ยผู้เป็นคนในรุ่นของหลวงปู่ครูบาเจ้าชุ่ม เล่าว่า เมื่องก่อนวัดมีเนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ บริเวณโดยรอบวัดนี้เป็นทุ่งนา มีศาสนาสถาน ถาวรวัตถุต่าง ๆ ดุจดังวัดในชนบททั่วไป มีโบสถ์ และพระพุทธปฏิมาขนาดใหญ่เท่าคนจริงอยู่ 3 องค์ ซึ่ง "หนานทอง" ประติมากรลูกศิษย์ของครูบาชุ่มเป็นผู้ปั้นไว้ตั้งแต่ตอนบวชเป็นเณรอยู่ที่นี่ แต่บัดนี้ เป็นที่น่าเศร้าสลดใจว่า พระพุทธปฏิมาเหล่านั้นได้หายสาบสูญไปเสียแล้ว ในบริเวณรกร้างของอดีตวัดศรีสองเมืองนี้ ยังมีต้นโพธิ์ขนาดใหญ่ยืนต้นเด่นกระหง่านอยู่ เป็นต้นโพธิ์ที่ยืนยงอยู่คู่กับวัดมายาวนานตั้งแต่ดั้งเดิม ครูบาชุ่มรับนิมนต์ของชาวบ้านกลับมาเป็นเจ้าอาวาส เมื่อตุ๊คำ เจ้าอาวาสวัดศรีสองเมืองในสมัยนั้นมรณภาพลง ตอนครูบาชุ่มในวัยหนุ่มฉกรรจ์ยังปกครองดูแลวัดนี้ ท่านเคยนำพระพุทธรูปแบบต่างๆ มาบรรจุไว้ทั้งด้านในและบริเวณโดยรอบของต้นโพธิ์ ครั้นนานวันเข้า พระทั้งหมดได้ถูกต้นโพธิที่เจริญเติบโตขึ้นโอบอุ้มร้ยรัดจนกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน สัจจธรรมเรื่องอนิจจัง ความไม่เที่ยง ยังคงเป็นความจริงเสมอมา บ้านวังมุยก็เช่นกัน มักเกิดอเทกภัยอยู่เนืองๆ โดยเฉพาะตรงบริเวณวัดศรีสองเมืองบางครั้งน้ำท่วมวัดสูงกว่า 1 เมตร พระภิกษุและสามเณรได้รับความยากลำบากในการทำกิจของสงฆ์อย่างยิ่ง แม้ตุ๊เจ้ากับตุ๊น้อยสามารถอดทนอดกลั้นได้ แต่ชาวบ้านกลับไม่อาจทนเห็นพระผู้เป็นเนื้อนาบุญของโลกต้องประสบกับความยากเข็ญถึงเพียงนี้ ชาวบ้านวังมุยจังร่วมใจกันหาสถานที่ที่เหมาะสมสร้างวัดขึ้นมาใหม่ ในที่สุด ก็พบที่สัปปายะแห่งหนึ่ง ไม่ใกล้ไม่ไกลกับวัดเก่า มีความเหมาะสมี่จะดำเนินการสร้างวัดปห่งใหม่ขึ้น พระภิกษุชุ่ม โพธิโก พร้อมด้วยชาวบ้านวังมุย นำโดยผู้อาวุโสคือ พ่ออุ๊ยเบอะ สุนันตะ พ่อหลวงสม อินต๊ะ อดีตผู้ใหญ่บ้านวังมุย พ่อหลวงสุข กัณฑวรรณา โยมบิดาของครูบาบุญสม (รักษาการเจ้าอาวาสต่อจากหลวงปู่ครูบาเจ้าชุ่ม) พ่ออุ้ยหมื่น สุมณะ พ่อควายเบิ้ง พ่อหลวงคำ ชัยชนะ พ่ออุ้ยน้อย (พี่เขยหลวงปู่คร.บาชุ่ม) และแม่อุ้ยปั๋น อินต๊ะ ได้มีจิตศรัทธาซื้อที่ดินเพื่อสร้างวัด เป็นเงินจำนวน 40 แถบ (เงินแถบ เป็นเงินรูปีของอินเดีย นิยมใช้กันทั้งในอินเดีย พม่า ตลอดจนภาคเหนือของไทย)ค่าเงินสมัยนั้นที่ดินราคา 40 แถบ (120 สลึง) แล้วจึงร่วมกันดำเนินการก่อสร้างเสนาสนะต่างๆ มีหลักฐานจารึกที่เสมาพระอุโบสถเก่าของวัด ระบุ พ.ศ. 2475 ปรากฏอยู่ด้วย บรรพชนชาววังมุยได้ดำเนินการสร้างวัด เสนาสนะ และถาวรวัตถุที่จำเป็นต่าง ๆ จนแล้วเสร็จ เรียกว่าวัดใหม่บ้าง วัดวังมุยบ้าง ภายหลัง ครูบาเจ้าชุ่มท่านได้ตั้งชื่อวัดให้เป็นสิริมลคลยิ่ง ด้วยชื่อ วัดชัยมงคล แต่คลทั่วไปยังนิยมเรียกว่า วัดวังมุย ตามชื่อหมู่บ้าน จากนั้นจึงพร้อมใจกันไปนิมนต์ครูบาเจ้าชุ่ม โพธิโก รวมทั้งพระเณรทั้งหมดจากวัดศรีสองเมอง ให้ย้ายมาที่วัดใหม่นี้ และแม้ว่าพระเณรทั้งหมดจะย้ายไปอยู่ ณ วัดใหม่แล้ว แต่ครูบาเจ้าชุ่ม ยังคงกลับไปดูแลวัดศรีสองเมืองที่เริ่มเปล่าร้งอยู่เป็นระยะ เนิ่นนานวันเข้า หลวงปู่ครูบาชุ่มยิ่มมีภารกิจมากขึ้น ท่านเดินทางไปทั่วแคว้นเผยบารมี วัดศรีสองเมืองจึงเริ่มกลายเป็นสถานที่รกร้าง ไม้เลื้อยและเถาวัลย์รกเรื้อปกคลุมบริเวณในที่สุด วัดศรีสองเมือง ก็มีสภาพเป็นป่ากรชัฏ จนเรียกกันว่า วัดห่าง คือ วัดร้างในที่สุด ถึงแม้ว่าวัดห่างจะไม่ได้เป็นสถานที่อยู่ และทำกิจของสงฆ์แล้ว แต่ครูบาเจ้าชุ่มยังได้ถึอเอาวัดห่างเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในการเข้า "นิโรธสมาบัติ" ของท่านตลอดมา โดยเจริญมาบัติ ณ กระท่อมน้อยในบริเวณรกร้างของวัด ท่าน ออกจาก นิโรธสมาบัติ้ ครั้งสุดท้าย ณ วัดห่างนี้ เมื่อวันเสาร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2518 หลังจากนั้นอีกราวๆ ปีกว่า ท่านก็มรณภาพลง ในวัย 78 ปี
วัดชัยมงคล (วังมุย)
วัดชัยมงคล สร้างขึ้นด้วยความร่วมแรงร่มใจของชาววังมุย โดยมีครูบาเจ้าชุ่ม โพธิโก เป็นองค์ประธาน มูลเหตุของการดำริสร้างวัด มาจาการที่วัดเก่า คือวัดศรีสองเมืองประจำบ้านวังมุย ประสบอุทกภัยอยู่เนืองนิจ ชาววังมุยจึงได้สร้างวัดใหม่ คือ วัดชัยมงคลขึ้นสถานที่ตั้งของวัดใหม่ อยู่ในทิศตะวันตกเฉียงเหนือของวัดเก่า สิ่งก่อสร้างแรกเริ่มที่สร้าง คือ พระวิหาร ซึ่งยังคงเค้าเดิมอยู่ถึงปัจจุบันชื่อของวัดใหม่ ที่หลวงปู่ครูบาเจ้าชุ่มตั้งให้ คือ วัดชัยมงคล แต่ชาวบ้านและคนทั่วไปมักนิยมเรียกว่าวัดวังมุย ด้วยความที่คนภายนอกรู้จักวัดเล็กๆ ในหมู่บ้านห่างไกลอย่างวัดวังมุยนี้ ในฐานะที่เป็นวัดของครูบาเจ้าชุ่ม โพธิโก พระอริยเจ้าจากเมืองลำพูน จึงมักจะคุ้นเคย ชินกับนามวัดวังมุยตามชื่อสถานที่มากกว่าดังนั้นกล่าวถึง วัดชัยมงคล จึงต้องมีชื่อ วังมุย ต่อท้ายด้วยเสมอจาก ประวัติทั่วราชอาณาจักรไทย ระบุว่า วัดชัยมงคล (วังมุย) สร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. 2464 โดยมีหลวงปู่ครูบา เจ้าชุ่ม โพธิโก ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวยาสองค์แรก ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2484 สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย
ตั้งอยู่ ณ บ้านวังมุย เลขที่ 85 หมู่ที่ 1 ต.ประตูป่า อ.เมือง จ.ลำพูน
มีเนื้อที่ 1 ไร่ 3 งาน 20 ตารางวา ส.ค. 1 เลขที่ 6
ทิศเหนือ ประมาณ 37 วา จรดลำน้ำเหมือง
ทิศใต้ ประมาณ 17 วา จรดที่ดินเอกชน
ทิศตะวันออก ประมาณ 46 วา จรดถนนสาธารณะ
ทิศตะวันตก ประมาณ 36 วา จรดที่ดินเอกชน
• ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 14 เดือน มกราคม พ.ศ. 2484
ประวัติหลวงพ่อชุ่ม โพธิโก
วัดชัยมงคล (วังมุย) ตำบลประตูป่า อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน
- หัวหน้ากัมมัฏฐาน เป็นผู้อาวุโสสูงสุดในจังหวัดลำพูน
- ศิษย์ร่วมสำนักและใกล้ชิดครูบาเจ้าศรีวิชัย
- รับพัดหางนกยูงและไม้เท้าเผยแพร่ธรรมแทนท่านครูบาฯ
- ปฏิบัติกัมมัฎฐานอดอาหาร ๗ วัน ๗ คืนในถ้ำมหัศจรรย์
- เทพยานำมงกุฎพระเจ้ามาถวาย
- เชี่ยวชาญยันต์และพระเวทย์
- ตระกรุดช่วยให้รอดตาย ได้รับเหรียญกล้าหาญจากสมรภูมิเวียดนาม
หลวงปู่ ครูบาเจ้าชุ่ม โพธิโก แห่งวัดชัยมงคล (วัดวังมุย) ต.ประตูป่า อ.เมือง จ.ลำพูน
นามเดิมชื่อ ชุ่ม ปลาวิน ถือกำเนิดเมื่อวันอังคารที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2442 เมื่อวันขึ้น 7 ค่ำ เดีอน 5 เหนือ ปีกุน ณ บ้านวังมุย จ.ลำพูน บิดาชื่อ นายมูล ปลาวิน มารดารชื่อ นางลุน ปลาวิน มีพี่น้องสืบสายโลหิตเดียวกัน 6 คน เป็นผู้หญิง 3 คน ท่านเป็นบุตรคนที่ 5
บุตรคนหัวปี ชื่อ พี่เอ้ย (หญิง) บุตรคนรองชื่อ พี่เป็ง (หญิง) บุตรคนที่สามชื่อ พี่โต (ชาย) บุตรคนที่สี่ ชื่อพพี่แก้ว (หญิง) บุตรคนที่ห้า คือ ครูบาชุ่ม และบุตรคนสุท้องชื่อ นายเปา (ชาย)
บิดาของท่านเป็นคนบ้านวังมุยโดยกำเนิด ส่วนมารดาเป็นคนบ้านขุนคง อ.หางดง จ.เชียงใหม่ (ระยะทางระหว่างบ้านวังมุยกับบ้านขุนคงอยู่ห่างกันประมาณ 10 กิโลเมตร) บุพการีทั้ง 2 ท่าน เป็นคนเชื้อสาย ละ บางคนออกเสียง วะ หรือ ลัวะ ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก
บรรพชาที่วัดพระธาตุขาว
เมื่ออายุได้ 12 ปี เด็กชายชุ่ม ปลาวิน ได้ขออนุญาตจากบิดา และมารดา เพื่อบรรพชาเป็นสามเณร ซึ่งบุพการีทั้งสองต่างก็ยอนยอมพร้อมใจให้บรรพชา
อุปสมบท
ท่านได้ศึกษาเล่าเรียน จนอายุได้ 20 ปี สามเณรชุ่ม ปลาวิน จึงได้พิจารณา ว่า "บัดนี้เราก็อายุครบบวชแล้ว ควรจะเดินทางกลับบ้านเกิดที่เมืองลำพูน เพื่อทำการอุปสมบท การที่เราได้อาศัยอยู่ในร่มเงาของพระพุทะศาสนานั้น เรารู้สึกเย็นใจ และร่มเย็นดีแท้ แม้เราคิดสึกออกไป เราก็ยากที่จะได้รับความสงบร่มเย็นเช่นนี้ เห็นทีเราจะต้องบสบเรียนต่อไป"
หลังจากตัดสินใจแล้ว ท่านจึงได้เดินทางกลับมาอุปสมบทเป็นพระภิกษุสงฆ์ ที่ภูมิลำเนาเดิม คือที่บ้านวังมุย จ.ลำพูน โดยมีพระครูบาอินตา (ครูบาปัญโญ) วัดพระธาตุขาว เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์หมื่น เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์หลวงอ้าย เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า โพธิโก
เมื่อท่านอุปสมบทแล้ว ก็ได้มุ่งมั่นศึกษาทั้งทางด้านปริยัติควบคู่กับด้าน)ปฏิบัติ โดยได้ฝึกพระกรรมฐานตามแนวทางกรรมฐาน 40 ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อชำระจิตมใจของตนให้บริสุทธิ์ หลุดพ้นจากกิเลศ สามารถทรงสมาธิได้สูงขึ้นตามลำดับ
นอกจากนั้นท่านยังได้ศึกษาศาสตร์ทางด้านพระเวทย์เลขยันต์ คาถาอาคมต่างๆ รวมทั้งตำราพิชัยสงครามอีกด้วย ความพากเพียรศึกษาในด้านการศึกษาของพระภิกษุชุ่ม เป็นที่กล่าวขวัญไปทั่ว เจ้าคณะจังหวัดลำพูนมในสมัยนั้น มีความชื่นชมพระภิกษุชุ่มเป็นอย่างมากได้ร้องขอให้ท่านไปศึกษาต่อด้านปริยัติที่กรุงเทพฯ โดยทางจังหวัดจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด เมื่อศึกษาจบแล้วจะได้กลับมาช่วยสอนหนังสือให้กับพระเณรในจังหวัด แต่ท่านไม่อาจรับภารกิจนี้ได้ โดยให้เหตุผลว่ายังต้องศึกษาด้านการปฏิบัติให้มาก ๆ เสียก่อน
ท่านเจ้าคณะจังหวัดเมื่อมีกิจธุระสิ่งใดก็มักจะเรียกให้พระภิกษุชุ่มอยู่เสมอ โดยได้มอบหมายให้ท่านเป็นเลขาฯ ประจำใกล้ชิด มอบหน้าที่ความรับผิดชอบในด้านต่างๆ ให้ ซึ่งท่านก็มิได้ทำให้พระผู้ใหญ่ผิดหวัง งานด้านต่าง ๆท่านสามารถทำได้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีทุกชิ้นทุกอัน จนเจ้าคณะจังหวัดจะแต่งตั้งชั้นยศ และขอสมณศักดิ์ชั้นพระครูให้ แต่พระภิกษุชุ่มได้ปฏิเสธไม่ขอรับสมณศักดิ์นั้น
ศิษย์ผู้ได้รับมอบไม้เท้า และพัดหางนกยูง จากครูบาศรีวิชัย
ครูบาเจ้าศรีวิชัย ตนบุญแห่งล้านนา ได้ริเริ่มดำเนินการก่อสร้างทางขึ้นพระธาตุดอยสุเทพ เมื่อ พ.ศ. 2478 จึงได้เรียกหาครูบาเจ้าชุ่ม โพธิโก ผู้เป็นศิษย์ให้เข้ามาช่วยเหลือการก่อสร้างด้วย ตอนนั้นครูบาเจ้าชุ่มมีอายุเพียง 37 ปี ท่านได้มาอยู่รับใช้ช่วยเหลืองานของครูบาศรีวิชัย อย่างใกล้ชิด โดยครูบาเจ้าชุ่มทำงานในแผนก สูทกรรม เวลาต่อมา พระภิกษุหนุ่มวัยยี่สิบเศษนาม ตุ๊วงค์ หรือหลวงปู่ครูบาวงค์ ก็มาปวารณาตัว ช่วยงานครูบาเจ้าศรีวิชัยด้วยเช่นกัน โดยตุ๊วงค์ทำงานในแผนก ดินระเบิด ท่านครูบาศรีวิชัยได้แบ่งหน้าที่การงานต่างๆ มอบหมายให้พระลูกศิษย์แต่ละท่านอย่างชัดเจน
จากการที่ได้อยู่ใกล้ชิดช่วยเหลือกิจการงานดังกล่าว ครูบาเจ้าชุ่มจึงมีโอกาสได้ศึกษาข้อวัตรปฏิบัติจากครูบาเจ้าศรีวิชัยต่อหลังจากเสร็จงานทุกวัน จนเกิดความชำนาญแตกฉานขึ้นตามลำดับ
ในยามค่ำ ครูบาเจ้าศรีวิชัยท่านจะอบรมสั่งสอนธรระ และการเจริญพระกรรมฐานแกพระเณร และประชาชนทั่วไป โดยท่านจะเริ่มวัตรปฏิบัติในเวลาตี 4 ของทุกวัน ครั้นฟ้าสว่างแล้วก็ให้พระเณรออกบิณฑบาต โดยข้อวัตรปฏิบัติ ทั้งหลายที่ท่านสอนนั้น ท่านยังได้บอกว่า
"หากปฏิบัติถูกต้องแล้ว จะมีอายุยืนยาว"
ครูบาชุ่มได้อยู่ศึกษาปฏิบัติ และช่วยเหลืองานของครูบาศรีวิชัยหลายด้านจนท่านเป็นที่รักและเมตตาของครูบาศรีวิชัยอย่างยิ่ง บางครั้งท่านได้รับความไว้วางใจให้อยู่ดูแลรักษาวัด ทำหน้าที่เสมือนเจ้าอาวาสแทนเวลาที่ครูบาศรีวิชัยไม่อยู่ เพราะตอนนั้นครูบาศรีวิชัยถูกเรียกตัวเข้าพระนคร (กรุงเทพน) บ่อยๆ จากกรณีต้องอธิกรณ์ต่าง ๆ ครูบาเจ้าศรีวิชัยได้ฝากให้ครูบาเจ้าชุ่มทำหน้าที่แทนท่าน ตั้งแต่การรับประเคนเครื่องไทยธรรม จนถึงการนั่งรับแขกที่มาหาครูบาเจ้าศรีวิชัย โดยระบุว่า "หากพวกชาวบ้านมาหาให้ต้อนรับ ให้ศีลให้พรแทนด้วย และคอยบอกเขาด้วยว่า ไม่กี่วันเฮาจะกลับมา"
แม้ขณะที่ครูบาเจ้าชุ่มท่านกลับไปประจำที่วัดวังมุย เมื่อครูบาศรีวิชัยมีกิจธุระ ก็จะส่งคนไปตามท่านถึงวัดวังมุย และทุกครั้งครูบาเจ้าชุ่มก็เต็มใจเดินทางมาสนองงานอาจารย์ของท่านด้วยควรผูกพันและกตัญญู
ช่วงที่การก่อสร้างทางขึ้นดอยสุเทพใกล้จะแล้วเสร็จนั้น ในวันหนึ่งครูบาเจ้าศรีวิชัยได้เรียกครูบาเจ้าชุ่มเข้าพบ เพื่อทบทวนธรรมะพระสูตรต่างๆ ทั้งหมดที่เล่าเรียนกันมา จากนั้นครูบาเจ้าศรีวิชัยได้มอบพัดหางนกยูงพร้อมกับไม้เท้าประจำองค์ท่านให้ครูบาเจ้าชุ่ม โดยสั่งไว้ด้วยว่า "เอาไว้เดินทางเทศนา"
ในช่วงบั้นปลายชีวิตของครูบาเจ้าศรีวิชัย ท่านอาพาธและรักษาตัวอยู่ที่วัดจามเทวี อ.เมือง จ.ลำพูน ศิษย์ใกล้ชิดที่คอยพยาบาลอุปัฏฐากท่านในตอนนั้น คือครูบาชุ่ม วัดชัยมงคล (วังมุย) จ.ลำพูน ครุบาบุญทืม พรหมเสโน วัดจามเทวี จ.ลำพูน และครูบาธรรมชัย ธมฺมชโย วัดทุ่งหลวง จ.เชียงใหม่
เรื่องการเข้านิโรธสมาธิ
หลวงปู่ครูบาเจ้าชุ่ม ท่านเป็นพระนักปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ที่ได้รับการถ่ายทอดวิชาความรู้มาจากครูบาอาจารย์ต่างๆ หลายองค์ และได้นำมาปฏิบัติตั้งแต่เมื่อเป็นสาเณร สมัยอยู่กับ ครูบาอินตา วัดเจดีย์ขาว
ครูบาเจ้าศรีวิชัย เป็นผู้ที่วางขนบจารีตเกี่ยวกับการ เข้านิโรธ ไว้ทำให้ครูบาอาจารย์และพระภิกษุทางภาคเหนือถือปฏิบัติสืบ ๆ กันมา รวมถึงหลวงปู่ครูบาเจ้าชุ่ม ท่านมักหาวาระและโอกาสเข้านิโรธอยู่เนืองๆ เท่าที่ทราบกันเป็นวงกว้าง และมีหลักฐานบันทึกไว้ระบุว่า ครูบาเจ้าชุ่ม โพธิโก เข้านิโรธ สมบัติมาแล้ว 8 ครั้ง ครั้งหลังสุด เข้าเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ.2518 และออกจากนิโรธสมาบัติในตอนย่ำรุ่ง วันที่ 21 มิถุนายน คือ 7 วันต่อมา
การเข้านิโรธสมาบัติของหลวงปู่ครูบาเจ้าชุ่ม โพธิโก ครั้งนี้ เป็นพิเศษยากยิ่งกว่าทุกครั้ง เพราะท่านเข้าด้วยอิริยาบถ 4 โดยทรงอารมณ์อยู่ในจตุตถญาณตลอดเวลา นับว่ากำลังจิกท่านแข็งแกร่ง มีบุญญาบารมีสูงยิ่ง และการเข้านิโรธสมบัติในครั้งนี้เอง ที่มีประชาชนทราบกันแพรหลายมากที่สุด
มีครั้งหนึ่งท่านไปเข้าอยู่กรรมที่วัดน้ำบ่อหลวง ครูบาขันแก้ว และอีกหลายรูป หลังจากออกกรรมแล้ว ได้มาเข้านิโรธองค์เดียว 7 วัน ที่วัดเก่า (วัดศรีสองเมือง) ก่อนที่จะเข้านิโรธ ท่านได้ตั้งสัจจะอธิษฐาน บอกกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์และครูบาอาจาครย์ หลังจากนั้นได้คล้องบาตรไปรับน้ำ 3 แก้วจากลุงอ้าย และได้ฉันน้ำในบาตรจนพอสมควร จึงได้เดินเข้าไปในกระท่อมที่ศรัทธาได้สร้างไว้ ที่วัดเก่า ตลอด 7 วันนี้ จะไม่มีใครเข้าไปหา หรือรบกวนท่าน โดยจ่าสรสิทธิ์ได้นำลูกน้องมาคุ้มครองดูแล จัดเวรยาม รักษาความสงบให้กับครูบาชุ่ม คนทั้งหมดจะอยู่ล้อมรอบบริเวณด้านนอกเขตของวัดทั้งหมด ห้ามบุคคลภายนอกเข้าไปใกล้กระท่อม ตั้งแต่วันที่ท่านเข้านิโรธ จนถึงวันที่ท่านออก ปรากฏว่าด้านนอกวัดมีชาวบ้านวังมุยและประชาชนจากที่อื่น พากันมานอนเฝ้าชมบารมีของท่านเป็นจำนวนมากมายทุกวัน ในวันที่หนึ่ง ระหว่างที่ท่านเข้านิโรธอยู่นั้น มีลูกศิษย์และคนทั่วไปที่อยู่ด้านนอกมองเห็นหลวงปู่ลงมาจากกระท่อม มาเดินจงกรม ยืนภาวนา และเดินไปนั่งสมาธิที่ใต้ต้นโพธิ์ในวัดห่าง พอได้เวลาท่านจะเดินขึ้นไปนั้งหรือนอนสมาธิบนกระท่อมอีกครั้ง
ลักษณะเช่นนี้ ตรงกับคำพูดที่หลวงพ่อพระราชพรหมยาน วัดท่าซุง เคยกล่าวกับศิษยานุศิษย์ของท่านว่า
"หลวงปู่ชุ่ม ท่านเป็นพระสุปฏิปันโน เป็นพระที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ และเป็นพระน้อยองค์นัก ที่จะสามารถเข้านิโรธสมาบัติได้ทุกอริยาบถ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน
ออกจากนิโรธสมบัติครั้งสุดท้าย
วันที่หลวงปู่ครูบาเจ้าชุ่ม ออกจากนิโรธ ได้มีการประชาชนทั่วไปทั้งใกล้และไกล ทราบข่าวแล้วพากันเดินทางมาร่วมงานจำนวนมาก ทั้งทหาร ตำรวจ และประชาชน ในครั้งนี้พระผู้ใหญ่เดินทางมาร่วมงานบุญหลายรูปด้วยกัน คือ
ครูบาพรหมา วัดพระพุทธบาทตากผ้า อ.ป่าซาง จ.ลำพูน
หลวงปู่คำแสน คุณาลังกาโร วัดป่าดอนมูล อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่
ครูบาวงค์ วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม อ.ลี้ จ.ลำพูน
ครูบาธรรมชัย วัดท่าหลวง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่
และหลวงพ่อพระราชพรหมยาน วัดท่าซุง อ.เมือง จ.อุทัยธานี
ในวันที่ครูบาเจ้าชุ่มออกจากนิโรธนั้น ครูบาวงค์ได้นำคณะลูกศิษย์พร้อมชาวเขามาร่วมพิธี พร้อมกับนำเรือขนาดใหญ่มาถวายครูบาเจ้าชุ่ม โดยทำฐานเป็นล้อไม้รองรับเรือ แล้วเข็นมาจากวัดห้วยต้ม อ.ลี้ ใช้เวลาเดินทางบากบั่นมาราว 1 เดือน จึงเข็นเรือมาถึงที่วัดชัยมงคล (วังมุย) การถวายเรือนี้มีเหตุว่าวัดวังมุยนั้นอยู่ในที่ลุ่ม จึงเกิดน้ำท่วมทุกปี ท่วมครั้งหนึ่งกินเวลานานหลายวัน เคยท่วมอยู่นานที่สุดถึง 2 เดือน ระดับน้ำสูงเป็นเมตร พระเณรต้องลำบากอย่างยิ่ง ด้วยเหตุนี้ครูบาวงค์จึงได้นำเรือเดินทางรอนแรมมาถวาย
ตอนที่ครูบาเจ้าชุ่มออกนิโรธสมาบัติ ครูบาอาจารย์ท่านอื่น ได้ยืนคอยรับท่านอยู่แล้ว ต่างตรงเข้าประคองท่านขึ้นนั่งบนเสลี่ยง โดยมีบรรดาชาวบ้าน และชาวเขาพร้อมใจกันช่วยหามเสลี่ยง จากนั้น พระเถระทุกองค์เดินนำหน้าเสลี่ยง ตามมาด้วยศรัทธาชาวบ้านแห่ครูบาเจ้าชุ่มมาจนถึงวัดใหม่ (วัดชัยมงคล - วังมุย) ระหว่างทางชาวบ้านและคนทั่วไปที่มาร่วมงาน ได้พร้อมใจกันทำบุญ โดยการโยนเงินขึ้นมาตรงบริเวณหน้าตักของครูบาเจ้าชุ่ม จนเงินที่หน้าตักของท่านได้ล้นตกลงมาตามทาง ในวันนั้น คณะศรัทธาทำบุญกับท่านนับได้ประมาณ 150,000 บาท เงินจำนวนนี้ต่อมาครูบาชุ่มได้นำมาบูรณะทำนุบำรุงวัดชัยมงคล (วังมุย) และใช้ในการศาสนาทั้งสิ้น
พอขบวนแห่มาถึงวัดใหม่ หลวงปู่หลวงพ่อทุกท่านต่างได้ป้อนข้าวทิพย์ให้แด่ครูบาเจ้าชุ่ม องค์ละคำ ตามด้วยผู้ที่ถือศีล 8 (เทวบุตร) ได้ตักข้าวใส่บาตรท่าน จากนั้นเป็นชาวบ้านทั่วไปที่ถือศีล 5 โดยลำดับ จากนั้น ทางวัดชัยมงคล (วังมุย) และชาวบ้านได้พร้อมในกันจัดงานต่อเพื่อฉลองศรัทธาของสาธุชนอีก 8 วัน
วัตถุมงคลโดยพระราชดำริ
ในปัจฉิมวัยของหลวงปู่ครูบาชุ่ม โพธิโก ท่านเปิดเผยเกียรติภูมิเต็มองค์ โดยร่วมเส้นทางธรรมสัญจรไปพร้อมกับหลวงพ่อฤาษีลิงดำ และเผ่าพงศ์พระสุปฏิบันโน ผู้ล้วนเป็นสหธรรมิกที่มีสายสัมพันธ์แน่นแฟ้น
เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2518 หลวงปู่ครูบาเจ้าชุ่ม โพธิโก พร้อมด้วยหลวงพ่อฤาษีลิงดำ หลวงปู่ครูบาวงค์ หลวงปู่ครูบาธรรมชัย และพระเถระอีกหลายรูป ได้เข้าร่วมพิธีพุทธาภิเษก ผ้ายันต์มหาพิชัยสงคราว และพระเถระอีกหลายรูป ได้เข้าร่วมพิธีพุทธาภิเษก ผ้ายันต์มหาพิชัยสงคราม ที่พระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร อารามหลวงชั้นเอก ตามพระราชโองการอาราธนาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ จากนั้นได้นำออกไปแจกเหล้าทหารหาญทั่วประเทศ ปรากฏว่าพุทธคุณเป็นเลิศเลื่องลือยิ่ง
วาจาสุดท้าย ณ บ้านวังมุย
พ่อเลื่อน กันธิโน ศิษย์ใกล้ชิดของหลวงปู่ครูบาเจ้าชุ่ม เล่าถึงช่วงเวลาก่อนที่ท่านจะมรณภาพว่า ตอนที่ทานจะตัดสินใจมากรุงเทพฯ นั้น ชาวบ้านวังมุยหลายคนขอร้องไม่ให้ท่านมาเพราะเห็นว่าท่านอาพาธอยู่แต่ดูเหมือนหลวงปู่ท่านจะรู้วาระของท่านจึงได้เอ่ยวาจาว่า
"เฮาจะไม่ตายที่นี่ ฮาจะไปตามที่เมืองกรุงบางกอก"
นับได้ว่า เป็นวาจาประโยคสุดท้ายของท่านที่วังมุย
พ่อเลื่อนเป็นผู้พาหลวงปู่นั่งเครื่องบินเดินทางไปกรุงเทพฯ โดยท่านเจ้ากรมเสริม กับ คุณอ๋อย มารอรับที่สนามบินดอนเมือง เพื่อพาหลวงปู่ชุ่มไปรักษาที่ โรงพยาบาลพร้อมมิตร คณะแพทย์ได้ตรวจรักษาโดยให้แสงเลเซอร์ผ่าตัดบริเวณต่อมลูกหมาก หลวงปู่ท่านกะว่าจะนอนพักผ่อนแค่ 2 วัน แล้วจะกลับวสัดวังมุย แต่แพทย์ได้ห้ามไว้เพราะหลวงปู่เพิ่งผ่าตัด ควรจะนอนพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลต่อสัก 4-5 วัน พร้อมกันนี้ แพทย์ได้ขอร้องหลวงปู่ไม่ให้เดินเพราะเพิ่งผ่าตัด แต่ด้วยความที่หลวงปู่ท่านเปี่ยมไปด้วยความเมตตาสูงส่ง เมื่อท่านนอนพักฟื้นได้สักระยะหนึ่งจนพอมีแรงขึ้นมาบ้าง ท่านก็เมตตาเดินขึ้นไปตามชั้นต่างๆ ของโรงพยาบาล ที่มี 4 ชั้น เพื่อไปรดน้ำมนต์ให้กับบรรดาผู้ป่วยของโรงพยาบาล ปรากฏว่าพอหลวงปู่กลับมาพักที่ห้องของท่านเลือดได้ไหลออกมาจากตรงบริเวณแผลที่เพิ่งผ่าตัด พอคณะแพทย์พยาบาลทราบต่างตกใจและรีบช่วยกันรักษาเยียวยาหลวงปู่อย่างเต็มความสามารถ แต่เนื่องจากหลวงปู่เสียเลือดมาก ประกอบกับการที่ท่านชราภาพมากแล้ว จึงไม่สามารถต้านทานความเจ็บปวดเอาไว้ได้ ท่านจึงมรณภาพลงอย่างสงบในเวลาเย็น ท่ามกลางความโศกเศร้าเสียในของศิษย์จยานุศิษย์
พล.อ.ท. ม.ร.ว.เสริม ศุขสวัสดิ์ ได้นำสังขารของหลวงปู่ชุ่มมาตั้งบำเพ็ญกุศลที่บ้านสายลมอันเป็นสถานที่ที่หลวงพ่อพระราชพรหมยานมาสอนกรรมฐาน เป็นเวลา 1 วัน จากนั้นชาวบ้านวังมุยจึงพากันเดินทางไปกรุงเทพฯ เอขอนำสังขารของหลวงปู่ครูบาเจ้าชุ่มกลับไปสู่บ้านวังมุย เจ้ากรมเสริมจึงได้สั่งการให้ทหารเอารถจี๊ปใหญ่นำสังขารของหลวงปู่ครูบาเจ้าชุ่มมาส่งถึงวัดชัยมงคล (วังมุย) โดยมีรถทหารนำขบวนมาด้วย
จากนั้น ทางวัดชัยมงคล (วังมุย) ได้จัดงานบำเพ็ญกุศลตามประเพณี อีก 7 วัน หลังจากนั้นจึงปิดโลงเก็บสังขารของท่านไว้เป็นแรมปี จนถึงปี 2521 จึงมีกำหนดการพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่ครูบาเจ้าชุ่ม โพธิโก โดยก่อนที่จะทำการเคลื่อนย้ายสังขารของท่านไปเผา ณ เมรุปราสาท นั้น ศิษยานุศิษย์บ้านวังมุยได้เปิดฝาโลงดูสังขารของท่านเป็นครั้งสุดท้าย จึงเห็นว่าสังขารของหลวงปู่ท่านไม่ได้เน่า เพียงแต่ร่างกายแห้งเท่านั้น
ในวันงานพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่ครูบาเจ้าชุ่ม โพธิโก มีครูบาอาจารย์สายเหนือหลายรูป เช่น ครูบาหรหมา ครูบาธรรมชัย ไปร่วมงานด้วย
เปลวเพลิงได้เผาร่างสังขารสมมุติของท่าน เหลือไว้เพียงนามอันเป็นวิมุตติของ หลวงปู่ครูบาเจ้าชุ่ม โพธิโก พระอริยเจ้าแห่งหริภุญชัย